การเขียนเรียงความ
ในการเขียนเรียงความเรามักประสบปัญหาว่า จะเขียนอะไรบ้างเขียนอย่างไรจึงจะเป็นเรียงความที่ดี ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับส่วนประกอบในการเขียน การใช้โวหารแนวปฏิบัติแต่ละขั้นตอน รวมทั้งการฝึกทักษะการเขียนอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้การเขียนเรียงความมีความน่าสนใจและน่าติดตามอ่านยิ่งขึ้น
1. ความหมายและองค์ประกอบของเรียงความ
เรียงความ คือ ข้อความหลายย่อหน้าที่บรรยายหรืออธิบายเรื่อง หรือความคิดเห็นอย่างไรอย่างหนึ่งประกอบด้วย หัวข้อ คำนำ(ความนำ) เนื้อเรื่อง(ตัวเรื่อง) และสรุป(ความลงท้าย) แต่ถ้าพูดถึงองค์ประกบของเรียงความ จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3ส่วน คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป
1.1 หัวข้อ คำนำ มีทั้งเรื่องที่ใกล้ตัวและไกลตัว เรื่องที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม เรื่องที่เกี่ยวกับประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียน เกี่ยวกับสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรม อาชีพ ธรรมชาติ ประสบการณ์ การดำเนินชีวิต เป็นต้น
1.2 คำนำ(ความนำ) เป็นส่วนเริ่มต้นของเรียงความ นำหน้าที่นำเกริ่นเข้าสู่เนื้อเรื่องและปูพื้นฐานความเข้าใจให้แก่ผู้อ่าน ความนำควรมีใจความรวบรัดไม่เยิ่นเย้อ และไม่ควรซ้ำกับส่วนสรุปเพราะคำนำจะช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจด้วยเนื้อเรื่องของเรียงความ สิ่งที่ควรลีกเลี่ยงในการเขียนคำนำ ได้แก่
1.2.1 เริ่มต้นจากเรื่องไกลกินไป เช่น คำนำเรื่ององค์การยูเนสโก ไม่มีความจำเป็นต้องกล่าวถึงความล้มเหลวขององค์ยูเนสโก หรือบุคลากรในองค์กร
1.2.2 ใช้คำออกตัว เช่น การกล่าวในทำนาองนี้ไม่ควรกระทำ
1.2.3 ลงความเห็นกว้างเกินไป เช่น คำนำเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของภาษาไทย” ไม่ควรใช้คำว่า ภาษาไทยในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมาได้ก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงไปสัมพันธ์กับวิชาอื่นๆ ควรใช้คำนำที่กระชับรัดกุม เช่น การเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยมีการพัฒนาอย่างเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเสียง ความหมายและหลักไวยากรณ์ของไทยอย่างงดงาม
1.2.4 คำกล่าวที่เป็นความจริงในตัวเองอยู่แล้ว เช่น “เป็นที่กล่าวกันว่า สิ่งที่แน่นอนในชีวิตมนุษย์มีอย่างเดียวเท่านั้น คือ ความไม่แน่นอน”
1.3 เนื้อเรื่อง(ตัวเรื่อง) เป็นข้อความต่อจากคำนำ ทำหน้าที่ขยายใจความของคำนำให้ละเอียดแจ่มแจ้ง ย่อหน้าเนื้อเรื่องอาจมีได้หลายย่อหน้า มากน้อยสุดแต่เนื้อเรื่อง ในการเขียนเรียงความโดยทั่วไปควรกำหนดจุดประสงค์ในการเขียน เพื่อช่วยให้กำหนดขอบเขตของหัวข้อเรียงความให้ชัดเจน นอกจากนี้ก่อนลงมือเขียนควรมีการวางโครงเรื่อง เพื่อช่วยให้เนื้อหาเรียงความมีเอกภาพไม่ออกนอกเรื่องและสามารถนำเสนอความคิดได้เป็นลำดับ ไม่สับสน
1.4 สรุป(ความลงท้าย) เป็นข้อความย่อหน้าสุดท้ายทำหน้าที่ปิดเรื่องชี้ให้เห็นสาระสำคัญที่สุดของเรื่อง และยังทำหน้าที่สนองจุดประสงค์ของผู้เขียนให้แจ่มชัด โดยมีความยาวใกล้เคียงกับคำนำ วิธีการเขียนบทสรุป มีดังนี้
1.4.1 สังเขปความทั้งหมดที่นำเสนอในโครงเรื่องอย่างย่อให้ได้สาระสำคัญอย่างชัดเจน
1.4.2 นำส่วนสำคัญที่สุดของตัวเรื่องมากล่าวย้ำเพื่อสะกิดในผู้อ่าน
1.4.3 เลือกสุภาษิต คำคมหรือคำกล่าวที่น่าเชื่อถืออื่นๆมาเป็นส่วนสรุป
1.4.4 ฝากข้อคิดแก่ผู้อ่านเพื่อให้นำไปคิดหรือปฏิบัติเมื่อมีโอกาส
1.4.5 ทิ้งคำถามให้ผู้อ่านใคร่ครวญต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องเสนอข้อยุติ
2. จุดประสงค์ของการเขียนเรียงความ มี 4 ประเภท
2.1 เพื่อโน้มน้าวใจผู้อ่านให้เชื่อถือหรือคล้อยตามแนวคิดของผู้เขียน
2.2 เพื่อให้ข้อเท็จจริงแก่ผู้อ่าน
2.3 เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน
2.4 เพื่อส่งเสริมให้ผู้อ่านใช้ความคิดของตนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
3. โวหารในการเขียน
โวหาร หมายถึง วิธีการเขียนเรียบเรียงข้อความให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง โวหารที่ใช้ในการเขียนเรียงความ ได้แก่ พรรณนาโวหาร บรรยายโวหาร อุปมาโวหาร เทศนาโวหาร เทศนาโวหาร สาธกโวหารและอธิบายโวหาร
3.1 พรรณนาโวหาร หมายถึง การเรียบเรียงข้อความโดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคล สิ่งของ ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ตลอดจนความรู้สึกต่างๆของผู้เขียน โดยเน้นให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับผู้เขียน
“ สมใจเป็นสาวงามที่มีลำแขนขาวผ่องทั้งกลมเรียวและอ่อนหยัด ผิวขาวละเอียดเช่นเดียวกับแขน ประกอบด้วยหลังมืออวบนูน นิ้วเล็กเรียว หลังเล็บมีสีดังกลีบดอกบัวแรกแย้ม”
3.2 บรรยายโวหาร หมายถึง การเขียนอธิบายหรือบรรยายเหตุการณ์ที่เป้ฯข้อเท็จจริงตามลำดับเหตุการณ์ เป็นการเขียนตรงไปตรงมา ไม่เยิ่นเย้อ มุ่งความชัดเจนเพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้ ความเข้าใจ เช่น การเขียนเล่าเรื่อง เล่าเหตุการณ์ การเขียนรายงาน เขียนตำราและเขียนบทความ
“ช้างยกขาหน้าให้ควาญเหยียบขึ้นนั่งบนคอ ตัวมันสูงใหญ่ ใบหูไหวพะเยิบ หญิงบนเรือนลงบันไดมาข้างล่าง เธอชูแขนยื่นผ้าขาวม้าและข้าวห่อใบตองขึ้นมาให้เขา”
3.3 อุปมาโวหาร หมายถึงการเขียนเป็นสำนวนเปรียบเทียบที่มีความคล้ายคลึงกัน เพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยการเปรียบเทียบสิ่งของที่เหมือนกัน เปรียบเทียบโดยโยงความคิดไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง หรือเปรียบเทียบข้อความตรงกันข้ามหรือข้อความที่ขัดแย้งกัน
“ อันว่าแก้วกระจกรวมอยู่กับสุวรรณ ย่อมได้แสงจับเป็นเลื่อมพรายคล้ายมรกต ผู้ที่โง่เขลาแม้ได้อยู่ใกล้นักปราชญ์ ก็อาจเป็นคนเฉลียวฉลาดได้ฉันเดียวกัน”
3.4 เทศนาโวหาร หมายถึง การเขียนอธิบาย ชี้แจงให้ผู้อ่านเข้าใจ ชี้ให้เห็นประโยชน์หรือโทษของเรื่องที่กล่าวถึง เป็นการชักจูงให้ผู้อื่นคล้อยตาม เห็นด้วยหรือเพื่อแนะนำสั่งสอนปลุกใจหรือเพื่อให้ข้อคิดคติเตือนใจผู้อ่าน
“ การทำความดีนั้น เมื่อทำแล้วก็แล้วกัน อย่าได้นำมาคิดถึงบ่อย ราวกับว่าการทำความดีนั้นช่างยิ่งใหญ่นัก ใครก็ทำไม่ได้เหมือนเรา ถ้าคิดเช่นนั้นความดีนั้นก็จะเหลือเพียงครึ่งเดียวแต่ถ้าทำแล้วก็ไม่น่านำมาใส่อีก คิดแต่จะทำอะไรต่อไปอีกจึงจะดี จึงจะเป็นความดีทีสมบูรณ์ ไม่ตกไม่หล่น”
3.5 สาธกโวหาร หมายถึง การหยิบตัวอย่างมาอ้างอิงประกอบการอธิบายเพื่อสนับสนุนข้อความที่เขียนไว้ให้ผู้อ่านเข้าใจ และเกิดความเชื่อถือ
“ อำนาจความสัตย์เป็นอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่เพียงแต่จับหัวใจคน แม้แต่สัตว์ก็ยังมีความรู้สึกในความสัตย์ซื่อ เมื่อกวนอูตายแล้ว ม้าของกวนอูก็ไม่ยอมกินหญ้ากินน้ำและตายตามเจ้าของไปในไม่ช้า ไม่ยอมให้หลังของมันสัมผัสกับผู้อื่นนอกจากนายของมัน”
3.6 แบบอธิบาย หมายถึง การชี้แจงให้ผู้อ่านทราบและเกิดความกระจ่างแจ่มแจ้งในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่น การอธิบายโทษของยาเสพติด วิธีทำกับข้าว ปัญหาสังคม การจราจร คำอธิบายร้อยกรอง งานอดิเรก เป็นต้น
“ คำว่า สลัด เป็น ภาษามลายู หมายความว่า ช่องแคบในทะเล ชาวมลายูซึ่งอยู่ตามชายฝั่งทะเลตอนช่องแคคบมะละกาในสมัยโบราณ มักประพฤติตนเป็นโจร คอยดักปล้นเรือสำเภาที่แล่นผ่านช่องแคบมะละกา ถ้าเรือสำเภาลำใดใบไม่ติดลมในคราวลมอับก็ต้องลอยกลางทะเล ชาวทะเลที่อยู่บนฝั่งทะเลในช่องแคบ ซึ่งเรียกว่า ชาวสลัด ก็ถือโอกาสยกพวกลงเรือเล็กมาล้อมตีปล้นเรือสำเภาลำนั้น คำว่า สลัด จึงติดมาเป็นคำในภาษาไทย หมายความว่า โจรสมุทรหรือโจรทะเล”
4. ข้อแนะนำในการเขียนเรียงความ
4.1 เนื้อความในย่อหน้าต้องเสนอความคิดที่เป็นประเด็นเดียวกัน มีความเป็นเอกภาพ และแต่ละย่อหน้าต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ เรียบเรียงตามลำดับความคิดเป็นเรื่องเดียวกัน
4.2 การเตรียมความรู้และความคิดในการเขียนเรียงความ จำเป็นต้องเลือกเขียนเรียงความในเรื่องที่ตนเองมีความรู้และความสนใจ รวมทั้งมีข้อมูลในการเขียนมากที่สุด
4.3 การเลือกใช้ถ้อยคำ ควรคำนึงถึงความเหมาะสมของเรื่องที่จะเขียน มีการใช้โวหารประกอบ ใช้ภาษาระดับทางการ ส่วนภาษาพูด คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ คำย่อไม่ควรนำมาใช้ในการเขียนเรียงความ
4.4 กลไกในการเขียนเกี่ยวกับการเขียนตัวสะกดการันต์ การเว้นวรรคตอน การเรียบเรียงถ้อยคำ การใช้ภาษา การเลือกสรรคำที่เหมาะสมและถูกต้อง สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้งานเขียนเรียงความมีความงดงามและน่าติดตามอ่านจนจบ ตัวอย่างแบบทดสอบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น