วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การใช้กวีโวหาร

                การใช้กวีโวหาร หรือ โวหารภาพพจน์  คือ การพลิกแพลงภาษาที่ใช้พูดและเขียนให้แปลกออกไปจากที่ใช้อยู่เป็นปกติ ก่อให้เกิดจินตภาพ  มีรสกระทบใจ   ความรู้สึกและอารมณ์ ต่างกับการใช้ภาษาอย่างตรงไปตรงมา  การใช้โวหารภาพพจน์มีอยู่หลายลักษณะ ดังนี้
๑.    อุปมา
อุปมา  หมายถึง การเปรียบเทียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง  การเปรียบเทียบด้วยวิธีนี้จะมีคำแสดงความหมายว่า “เหมือน”ปรากฏอยู่ด้วย  เช่น  เหมือน  เสมือน  ดุจ  ประดุจ ดัง  เพียง  คล้าย  ปูน  ราว  ฯลฯ
ตัวอย่าง
·       ผิวขาวดังสำลี              หน้าเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ
·            เสร็จเสวยศวรรเยศอ้าง          ไอศูรย์  สรวงฤา
เย็นพระยศปูนเดือน                 เด่นฟ้า
เกษมสุขส่องสมบูรณ์                  บานทวีป
สว่างทุกข์ทุกธเรศหล้า               แหล่งล้วนสรรเสริญ
                            (ลิลิตตะเลงพ่าย)
·            ไม้เรียกผกากุพ                        ชกะสีอรุณแสง
ปานแก้มแฉล้มแดง                  ดรุณี  ณ ยามอาย
                                                        (มัทนะพาธา)
๒.   อุปลักษณ์
อุปลักษณ์  หมายถึง   การเปรียบเทียบของสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง คล้ายกับการเปรียบเทียบแบบอุปมา แต่ไม่มีคำว่า เหมือน หรือ คำอื่นที่มีความหมายนัยเดียวกันปรากฏอยู่
        เขากินเหมือนหมู   (อุปมา)                เขาเป็นหมู    (อุปลักษณ์)
        ประโยคแรก จะนึกถึงท่าทางการกินว่าเหมือนหมู  แต่ประโยคหลัง อาจจะรู้สึกหยั่งลึกนอกจากการกิน แล้วอาจจะนึกถึงลักษณะท่าทางการเดินต้วมเตี้ยมเหมือนหมู   อ้วนเหมือนหมู  ขาสั้นเหมือนหมู  ฯลฯ
        การเปรียบเทียบแบบอุปลักษณ์ยังสามารถใช้คำหรือข้อความที่ต้องการเปรียบเทียบแทนได้
ตัวอย่าง
·       ดวงตาสวรรค์ส่งแสงระยับระยับในท้องฟ้า”  (ดวงตาสวรรค์  หมายถึงดวงดาว)
·       อย่ามายกแม่น้ำทั้งห้าเลย  ฉันไม่เคลิ้มไปตามคุณหรอก (ยกแม่น้ำทั้งห้า หมายถึง  พูดจาหว่านล้อม)
·       พ่อตายคือฉัตรกั้ง                        หายหัก
แม่ดับดุจรถจักร                            จากด้วย
ลูกตายบ่วายรัก                             แรงร่ำ
เมียนิ่งตายวายม้วย                       มืดคลุ้มแดนไตร
                                                        (โคลงโลกนิติ)
ข้อความ ฉัตรกั้ง   หายหัก  เป็นการเปรียบเทียบโดยปริยาย  หมายถึง ผู้ที่คุ้มครองให้มีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยได้สูญสลายไปแล้ว  พ่อเป็นดุจฉัตรและความตายของพ่อเป็นดุจฉัตรหัก
๓.    บุคคลวัต  หรือ บุคคลสมมุติ
บุคคลวัต  หรือ บุคคลสมมุติ  หมายถึง  การเปรียบเทียบด้วยการสมมุติให้สิ่งที่ไม่มีชีวิตหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ  ซึ่งมิใช่คนแสดงกิริยาอาการ  อารมณ์  หรือความรู้สึกนึกคิดเหมือนคน  เช่น  ให้พืช  สัตว์  สิ่งของ พูดภาษาคนได้ จินตนาการเห็นภาพพจน์และความรู้สึกคล้อยตาม
ตัวอย่าง
·       “ เนื่องจากฉันมีโอ่งเพียงไม่กี่ใบ  ดังนั้นเมื่อฝนตกหนักทีไร โอ่งที่บ้านฉันเป็นต้องสำลักน้ำทุกที ”
·       “พระอาทิตย์โบกมืออำลาฉันด้วยท่าทางรีบร้อน ในขณะที่ดวงจันทร์วันเพ็ญ  ค่อย ๆ กรีดกรายมาโดดเด่นอยู่บนท้องฟ้าสีครามเข้ม”
·       “ธรรมชาติรอบข้างต่างสลดหมดความคะนองทุกสิ่งทุกอย่าง”
·       “     น้ำเซาะหินรินหลากไหล                   ไม่หลับเลยชั่วฟ้าดินหาย
สรรพสัตว์พอฟื้นก็วอดวาย                       สลายซากเป็นกากผงธุลี”
๔.    อธิพจน์
อธิพจน์  หมายถึง การกล่าวผิดไปจากที่เป็นจริง  เป็นการกล่าวเกินจริง  โดยมีเจตนาเน้นข้อความที่กล่าวนั้นให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น  ให้ความรู้สึกเพิ่มขึ้น
ตัวอย่าง
·       “เสียงเท่าฟ้าหน้าเท่ากลอง”                      “ตัวโตราวกับตึก”
“ร้อนแทบสุก”                                             “เหนื่อยสายตัวแทบขาด”
·       มีทองเท่าหนวดกุ้ง  นอนสะดุ้งจนเรือนไหว
·       “การค้นหาจนแทบพลิกแผ่นดิน  เน้นให้เห็นถึงความพยายามและแสวงหาจนพบแม้จะมีความลำบากยากเย็น หรือมีอุปสรรคเพียงใดก็ตาม”




·             “เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม                            ถึงพรหม
พาหมู่สัตว์จ่อมจม                                        ชีพม้วย
พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม                                ทบท่าว  ลงนา
หากอกนิษฐ์พรหมฉ้วย                              พี่ไว้จึ่งคง”      (ตำนานศรีปราชญ์)                                 
๕.    อวพจน์
อวพจน์ หมายถึง การกล่าวผิดไปจากที่เป็นจริง เป็นการกล่าวเกินจริง  โดยมีเจตนาเน้นข้อความน้อยกว่าจริง
ตัวอย่าง
·       “คอยสักอึดใจเดียว”
·       “มีทองเท่าหนวดกุ้ง  นอนสะดุ้งจนเรือนไหว”
·       “จะเป็นความถามไถ่ในบุริน                     เงินเท่าปีกริ้นก็ไม่มี”
๖.      นามนัย
นามนัย  หมายถึง  การใช้ชื่อส่วนประกอบที่เด่นของสิ่งหนึ่งแทนสิ่งนั้นทั้งหมด  ส่วนประกอบดังกล่าวกับสิ่งนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน
ตัวอย่าง
·       “ว่านครรามินทร์  ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราชย์  เยียววิวาทชิงฉัตร เพื่อกษัตริย์สองสู้  บ่ร้างรู้เหตุผล  ควรยาตรพลไปเยือน”                          (ลิลิตตะเลงพ่าย)
“ฉัตร”   หมายถึง  ราชบัลลังก์  คือเป็นเป็นกษัตริย์
·       เก้าอี้นายกสมาคมกำลังคลอนแคลน”
“เก้าอี้” หมายถึง ตำแหน่ง
·       “การทำงานชิ้นนี้เป็นภาระสำคัญต้องระดมสมองระดับหัวกะทิ”
“สมอง”  หมายถึง  ผู้มีกำลังความคิด  มีสติปัญญาสูง  มีความเฉลียวฉลาดรอบคอบ
๗.    สัญลักษณ์
สัญลักษณ์  หมายถึง การใช้สิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง (คำแทน)  ที่มีคุณสมบัติหรือลักษณะภาวะบางอย่างร่วมกัน และเป็นที่ยอมรับกันในหมู่คนส่วนใหญ่
ตัวอย่าง
·       พระเกี้ยว                       แทน       จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
·       ดอกมะลิ                        แทน       ความบริสุทธิ์   ความชื่นใจ
·       ดอกกุหลาบ                  แทน       ความรักของหนุ่มสาว
·       นกพิราบ                       แทน       สันติภาพ
·       ตาชั่ง                              แทน       ความเที่ยงธรรม
·       เรือจ้าง                           แทน       ครู
·       แสงเทียน                      แทน       ความหวัง
·       สุนัขจิ้งจอก                   แทน       คนเจ้าเล่ห์    คนที่ไม่น่าไว้วางใจ
๘.    สัทพจน์
สัทพจน์  หมายถึง การเลียนเสียงธรรมชาติ เพื่อให้เกิดภาพชัดเจน
ตัวอย่าง
·              “บัดเดี๋ยวดังหงั่งเหง่งวังเวงแว่ว                        สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา
เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา                                               ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต”
                                                                                        (พระอภัยมณี ของ สุนทรภู่)
·             “ไผ่ซออ้อเอียดเบียดออด                     ลมลอดไล่เลี้ยวเรียวไผ่
ออดแอดแอดออดยอดไกว                                        แพใบไล้น้ำลำคลอง”
                                                        (บนพรมไม้ไผ่ ในคำหยาด ของเนาวรัตน์     พงษ์ไพบูลย์)
๙.     ปฏิพจน์
ปฏิพจน์  หมายถึง การใช้ถ้อยคำที่ความหมายตรงข้ามกันหรือขัดแย้งกัน มากล่าวอย่างกลมกลืนกัน ภาพพจน์ประเภทนี้ต้องวิเคราะห์ความหมายให้ลึกลงไปจึงจะเข้าใจ เพราะมักจะกล่าวในเชิงปรัญญา
ตัวอย่าง
·       รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ
·       เสียน้อยเสียยาก  เสียมากเสียง่าย
·       ถี่ลอดตัวช้าง  ห่างลอดตัวเล็น
·       เสียงกระซิบแห่งความเงียบ   
๑๐. ไวพจน์
ไวพจน์  หมายถึง  คำที่เขียนต่างกันแต่มีความหมายเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกัน
ตัวอย่าง
·       ดอกไม้           มาลี         ผกา         บุปผชาติ                บุหงา
·       ป่า                   พนา       วนา        ไพรสณฑ์              พนาสัณฑ์
·       น้ำ                   วารี         สาชล     ชโลทร                   ชลาลัย
·       ช้าง                 กรี           หัสดี       สาร                         วรินทร์
·       ม้า                   หัย          แสะ        ดุรงค์                      อาชา
·       ใจ                    มน          ฤทัย        หทัย                       ดวงกมล
·       งาม โสภา      วิลาส      เสาวลักษณ์           เสาวภา
๑๑.  สมญานาม
สาญานาม  หมายถึง  การตั้งชื่อใหม่ที่เหมาะสมกับลักษณะของสิ่งที่ต้องการสื่อ การเลือกสรรคำ  หรือกลุ่มคำที่เหมาะสมเพื่อนำสิ่งที่ต้องการสื่อ  การตั้งสมญานามมักจะเป็นการสื่อคำที่รับรู้กันเฉพาะคนในกลุ่ม
ตัวอย่าง
·       โรเบอร์โต้  อูปาร์เต้  นักเตะเมืองกระทิงดุลงสนามแข่งขันเมื่อเย็นวาน
·       ไอ้แสบเป็นชาวจังหวัดเพชรบูรณ์
·       พระปิยมหาราช ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย
เมืองกระทิงดุ   ไอ้แสบ    พระปิยมหาราช  เป็นโวหารภาพพจน์ประเภทสมญานาม
หน่วยของภาษา
        หน่วยในภาษา หมายถึง ส่วนประกอบในภาษา อันได้แก่ เสียง คำ ประโยค ซึ่งผู้ใช้สามารถนำมาประกอบกันให้มากขึ้นได้ไปได้อีกเป็นจำนวนมาก  เช่น 

        หน่วยเสียง เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดประกอบด้วย เสียงสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์ โดยหน่วยเสียงสระในภาษาไทยมี 21 หน่วยเสียง 
        เป็นสระเดี่ยว 18 เสียง แบ่งเป็นสระสั้น 9 เสียง สระยาว 9 เสียง และสระประสม 3 เสียงเท่านั้น 
        ไม่แบ่งเป็นสระสั้น สระยาวเนื่องจากการออกเสียงสระประสมสั้น หรือยาวไม่มีนัยสำคัญ กล่าวคือ ไม่ทำให้ความหมายของคำแตกต่างกัน 
        หน่วยเสียงพยัญชนะไทย มี 21 เสียง แต่มีรูป 44 รูป เสียงพยัญชนะที่ปรากฏมีทั้งพยัญชนะเดี่ยว และพยัญชนะควบกล้ำ 
        แต่ส่วนใหญ่จะใช้พยัญชนะเดี่ยวขึ้นต้นคำ หน่วยเสียงวรรณยุกต์ของไทย มีทั้งหมด 5 เสียง คือ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงจัตวา 
        มีเครื่องหมายแทนเสียงวรรณยุกต์เพียง 4 รูปเท่านั้น คือ ไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี และไม้จัตวา 
        โดยเครื่องหมายวรรณยุกต์ไม่ได้ใช้แทนเสียงวรรณยุกต์นั้นๆ ตรงตัวเสมอไป เพราะต้องเปลี่ยนแปรไปตามกลุ่มของพยัญชนะว่าเป็น อักษรกลาง อักษรสูง หรืออักษรต่ำ 

        คำ คือ หน่วยที่เล็กที่สุดที่มีความหมายในภาษา การนำเสียงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์และความหมาย  มาประสมกันเราสามารถสร้างคำให้มีมากขึ้น และนำคำมาประสมกันเกิดเป็นคำใหม่ๆ ได้จำนวนมาก เช่น  กราบกราน การงาน พ่อเลี้ยง แม่บ้าน  

        วลี คือ การนำคำมาเรียบเรียงเป็นกลุ่มคำหรือวลี เช่น ทำงานรวดเร็ว นานาทัศนะ

        ประโยค คือ การนำคำหรือกลุ่มคำ มาเรียบเรียงให้มีองค์ประกอบครบตามลักษณะของประโยคในภาษาไทย จะได้ประโยคจำนวนมาก
        และภาษาไทยมีลักษณะพิเศษ ถ้าเรียงคำสลับที่กัน จะได้ประโยคใหม่ มีความหมายใหม่กันโดยไม่ต้องเพิ่มคำขึ้นมาใหม่ เช่น คำ 4 คำนี้ “ ใคร  ให้  ไป  หา ” สามารถเรียงเป็นประโยคได้ถึง 16 ประโยค

        นอกจากนี้ประโยคเพียงประโยคเดียวง่ายๆ เราสามารถขยายประโยคให้ยาวออกไป ได้อีก โดยการขยายประโยคบ้าง รวมประโยคบ้าง ซ้อนประโยคบ้าง 
        เช่น พ่อเลี้ยงของฉันทำงานเสร็จอย่างรวดเร็ว แล้วรีบกลับมาให้แม่บ้านทำอาหารให้รับประทาน
การเขียนเรียงความ
            ในการเขียนเรียงความเรามักประสบปัญหาว่า จะเขียนอะไรบ้างเขียนอย่างไรจึงจะเป็นเรียงความที่ดี ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับส่วนประกอบในการเขียน การใช้โวหารแนวปฏิบัติแต่ละขั้นตอน รวมทั้งการฝึกทักษะการเขียนอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้การเขียนเรียงความมีความน่าสนใจและน่าติดตามอ่านยิ่งขึ้น
1. ความหมายและองค์ประกอบของเรียงความ
            เรียงความ คือ ข้อความหลายย่อหน้าที่บรรยายหรืออธิบายเรื่อง หรือความคิดเห็นอย่างไรอย่างหนึ่งประกอบด้วย หัวข้อ คำนำ(ความนำเนื้อเรื่อง(ตัวเรื่องและสรุป(ความลงท้ายแต่ถ้าพูดถึงองค์ประกบของเรียงความ จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3ส่วน คือ คำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป
        1.1 หัวข้อ คำนำ มีทั้งเรื่องที่ใกล้ตัวและไกลตัว เรื่องที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม เรื่องที่เกี่ยวกับประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียน เกี่ยวกับสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรม อาชีพ ธรรมชาติ ประสบการณ์ การดำเนินชีวิต เป็นต้น
        1.2 คำนำ(ความนำเป็นส่วนเริ่มต้นของเรียงความ นำหน้าที่นำเกริ่นเข้าสู่เนื้อเรื่องและปูพื้นฐานความเข้าใจให้แก่ผู้อ่าน ความนำควรมีใจความรวบรัดไม่เยิ่นเย้อ และไม่ควรซ้ำกับส่วนสรุปเพราะคำนำจะช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านสนใจด้วยเนื้อเรื่องของเรียงความ สิ่งที่ควรลีกเลี่ยงในการเขียนคำนำ ได้แก่
            1.2.1 เริ่มต้นจากเรื่องไกลกินไป เช่น คำนำเรื่ององค์การยูเนสโก ไม่มีความจำเป็นต้องกล่าวถึงความล้มเหลวขององค์ยูเนสโก หรือบุคลากรในองค์กร
            1.2.2 ใช้คำออกตัว เช่น การกล่าวในทำนาองนี้ไม่ควรกระทำ
            1.2.3 ลงความเห็นกว้างเกินไป เช่น คำนำเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของภาษาไทย” ไม่ควรใช้คำว่า ภาษาไทยในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมาได้ก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงไปสัมพันธ์กับวิชาอื่นๆ ควรใช้คำนำที่กระชับรัดกุม เช่น การเปลี่ยนแปลงของภาษาไทยมีการพัฒนาอย่างเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเสียง ความหมายและหลักไวยากรณ์ของไทยอย่างงดงาม
            1.2.4 คำกล่าวที่เป็นความจริงในตัวเองอยู่แล้ว เช่น “เป็นที่กล่าวกันว่า สิ่งที่แน่นอนในชีวิตมนุษย์มีอย่างเดียวเท่านั้น คือ ความไม่แน่นอน”
        1.3 เนื้อเรื่อง(ตัวเรื่องเป็นข้อความต่อจากคำนำ ทำหน้าที่ขยายใจความของคำนำให้ละเอียดแจ่มแจ้ง ย่อหน้าเนื้อเรื่องอาจมีได้หลายย่อหน้า มากน้อยสุดแต่เนื้อเรื่อง ในการเขียนเรียงความโดยทั่วไปควรกำหนดจุดประสงค์ในการเขียน เพื่อช่วยให้กำหนดขอบเขตของหัวข้อเรียงความให้ชัดเจน นอกจากนี้ก่อนลงมือเขียนควรมีการวางโครงเรื่อง เพื่อช่วยให้เนื้อหาเรียงความมีเอกภาพไม่ออกนอกเรื่องและสามารถนำเสนอความคิดได้เป็นลำดับ ไม่สับสน
        1.4 สรุป(ความลงท้ายเป็นข้อความย่อหน้าสุดท้ายทำหน้าที่ปิดเรื่องชี้ให้เห็นสาระสำคัญที่สุดของเรื่อง และยังทำหน้าที่สนองจุดประสงค์ของผู้เขียนให้แจ่มชัด โดยมีความยาวใกล้เคียงกับคำนำ วิธีการเขียนบทสรุป มีดังนี้
            1.4.1 สังเขปความทั้งหมดที่นำเสนอในโครงเรื่องอย่างย่อให้ได้สาระสำคัญอย่างชัดเจน
            1.4.2 นำส่วนสำคัญที่สุดของตัวเรื่องมากล่าวย้ำเพื่อสะกิดในผู้อ่าน
            1.4.3 เลือกสุภาษิต คำคมหรือคำกล่าวที่น่าเชื่อถืออื่นๆมาเป็นส่วนสรุป
            1.4.4 ฝากข้อคิดแก่ผู้อ่านเพื่อให้นำไปคิดหรือปฏิบัติเมื่อมีโอกาส
            1.4.5 ทิ้งคำถามให้ผู้อ่านใคร่ครวญต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องเสนอข้อยุติ
2. จุดประสงค์ของการเขียนเรียงความ มี ประเภท
        2.1 เพื่อโน้มน้าวใจผู้อ่านให้เชื่อถือหรือคล้อยตามแนวคิดของผู้เขียน
        2.2 เพื่อให้ข้อเท็จจริงแก่ผู้อ่าน
        2.3 เพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน
       2.4 เพื่อส่งเสริมให้ผู้อ่านใช้ความคิดของตนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
3. โวหารในการเขียน
            โวหาร หมายถึง วิธีการเขียนเรียบเรียงข้อความให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง โวหารที่ใช้ในการเขียนเรียงความ ได้แก่ พรรณนาโวหาร บรรยายโวหาร อุปมาโวหาร เทศนาโวหาร เทศนาโวหาร สาธกโวหารและอธิบายโวหาร
        3.1 พรรณนาโวหาร หมายถึง การเรียบเรียงข้อความโดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคล สิ่งของ ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ตลอดจนความรู้สึกต่างๆของผู้เขียน โดยเน้นให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับผู้เขียน
“ สมใจเป็นสาวงามที่มีลำแขนขาวผ่องทั้งกลมเรียวและอ่อนหยัด ผิวขาวละเอียดเช่นเดียวกับแขน ประกอบด้วยหลังมืออวบนูน นิ้วเล็กเรียว หลังเล็บมีสีดังกลีบดอกบัวแรกแย้ม”
        3.2 บรรยายโวหาร หมายถึง การเขียนอธิบายหรือบรรยายเหตุการณ์ที่เป้ฯข้อเท็จจริงตามลำดับเหตุการณ์ เป็นการเขียนตรงไปตรงมา ไม่เยิ่นเย้อ มุ่งความชัดเจนเพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้ ความเข้าใจ เช่น การเขียนเล่าเรื่อง เล่าเหตุการณ์ การเขียนรายงาน เขียนตำราและเขียนบทความ
ช้างยกขาหน้าให้ควาญเหยียบขึ้นนั่งบนคอ ตัวมันสูงใหญ่ ใบหูไหวพะเยิบ หญิงบนเรือนลงบันไดมาข้างล่าง เธอชูแขนยื่นผ้าขาวม้าและข้าวห่อใบตองขึ้นมาให้เขา”
        3.3 อุปมาโวหาร หมายถึงการเขียนเป็นสำนวนเปรียบเทียบที่มีความคล้ายคลึงกัน เพื่อทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยการเปรียบเทียบสิ่งของที่เหมือนกัน เปรียบเทียบโดยโยงความคิดไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง หรือเปรียบเทียบข้อความตรงกันข้ามหรือข้อความที่ขัดแย้งกัน
“ อันว่าแก้วกระจกรวมอยู่กับสุวรรณ ย่อมได้แสงจับเป็นเลื่อมพรายคล้ายมรกต ผู้ที่โง่เขลาแม้ได้อยู่ใกล้นักปราชญ์ ก็อาจเป็นคนเฉลียวฉลาดได้ฉันเดียวกัน”
        3.4 เทศนาโวหาร หมายถึง การเขียนอธิบาย ชี้แจงให้ผู้อ่านเข้าใจ ชี้ให้เห็นประโยชน์หรือโทษของเรื่องที่กล่าวถึง เป็นการชักจูงให้ผู้อื่นคล้อยตาม เห็นด้วยหรือเพื่อแนะนำสั่งสอนปลุกใจหรือเพื่อให้ข้อคิดคติเตือนใจผู้อ่าน
“ การทำความดีนั้น เมื่อทำแล้วก็แล้วกัน อย่าได้นำมาคิดถึงบ่อย ราวกับว่าการทำความดีนั้นช่างยิ่งใหญ่นัก ใครก็ทำไม่ได้เหมือนเรา ถ้าคิดเช่นนั้นความดีนั้นก็จะเหลือเพียงครึ่งเดียวแต่ถ้าทำแล้วก็ไม่น่านำมาใส่อีก คิดแต่จะทำอะไรต่อไปอีกจึงจะดี จึงจะเป็นความดีทีสมบูรณ์ ไม่ตกไม่หล่น”
        3.5 สาธกโวหาร หมายถึง การหยิบตัวอย่างมาอ้างอิงประกอบการอธิบายเพื่อสนับสนุนข้อความที่เขียนไว้ให้ผู้อ่านเข้าใจ และเกิดความเชื่อถือ
“ อำนาจความสัตย์เป็นอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่เพียงแต่จับหัวใจคน แม้แต่สัตว์ก็ยังมีความรู้สึกในความสัตย์ซื่อ เมื่อกวนอูตายแล้ว ม้าของกวนอูก็ไม่ยอมกินหญ้ากินน้ำและตายตามเจ้าของไปในไม่ช้า ไม่ยอมให้หลังของมันสัมผัสกับผู้อื่นนอกจากนายของมัน”
        3.6 แบบอธิบาย หมายถึง การชี้แจงให้ผู้อ่านทราบและเกิดความกระจ่างแจ่มแจ้งในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือวิธีการใดวิธีการหนึ่ง เช่น การอธิบายโทษของยาเสพติด วิธีทำกับข้าว ปัญหาสังคม การจราจร คำอธิบายร้อยกรอง งานอดิเรก เป็นต้น
“ คำว่า สลัด เป็น ภาษามลายู หมายความว่า ช่องแคบในทะเล ชาวมลายูซึ่งอยู่ตามชายฝั่งทะเลตอนช่องแคคบมะละกาในสมัยโบราณ มักประพฤติตนเป็นโจร คอยดักปล้นเรือสำเภาที่แล่นผ่านช่องแคบมะละกา ถ้าเรือสำเภาลำใดใบไม่ติดลมในคราวลมอับก็ต้องลอยกลางทะเล ชาวทะเลที่อยู่บนฝั่งทะเลในช่องแคบ ซึ่งเรียกว่า ชาวสลัด ก็ถือโอกาสยกพวกลงเรือเล็กมาล้อมตีปล้นเรือสำเภาลำนั้น คำว่า สลัด จึงติดมาเป็นคำในภาษาไทย หมายความว่า โจรสมุทรหรือโจรทะเล”
4. ข้อแนะนำในการเขียนเรียงความ
        4.1 เนื้อความในย่อหน้าต้องเสนอความคิดที่เป็นประเด็นเดียวกัน มีความเป็นเอกภาพ และแต่ละย่อหน้าต้องมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ เรียบเรียงตามลำดับความคิดเป็นเรื่องเดียวกัน
        4.2 การเตรียมความรู้และความคิดในการเขียนเรียงความ จำเป็นต้องเลือกเขียนเรียงความในเรื่องที่ตนเองมีความรู้และความสนใจ รวมทั้งมีข้อมูลในการเขียนมากที่สุด
        4.3 การเลือกใช้ถ้อยคำ ควรคำนึงถึงความเหมาะสมของเรื่องที่จะเขียน มีการใช้โวหารประกอบ ใช้ภาษาระดับทางการ ส่วนภาษาพูด คำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ คำย่อไม่ควรนำมาใช้ในการเขียนเรียงความ
       4.4 กลไกในการเขียนเกี่ยวกับการเขียนตัวสะกดการันต์ การเว้นวรรคตอน การเรียบเรียงถ้อยคำ การใช้ภาษา การเลือกสรรคำที่เหมาะสมและถูกต้อง สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้งานเขียนเรียงความมีความงดงามและน่าติดตามอ่านจนจบ ตัวอย่างแบบทดสอบ

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประวัติความเป็นมาวันภาษาไทย


วันภาษาไทยแห่งชาติ
                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                            วันภาษาไทยแห่งชาติ ความเป็นมาเป็นอย่างไร 

          สืบเนื่องจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่น ๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์, วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ

เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ

          สำหรับเหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ นั้นเพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ "ปัญหาการใช้คำไทย" โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจกับผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง

          สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า "เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..."

          นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ซึ่งในโอกาสต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส

          อย่างในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า "ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนือง ๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"

          นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้น ๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น
                                                                                                                                      

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561


เรื่องย่อพระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ

                 กล่าวถึงพระอภัยมณีอยู่กับนางผีเสื้อจนมีบุตรชาย หน้าตาเหมือนพระบิดา แต่ดวงตาแดงดังสุรีย์ฉาย(พระอาทิตย์) มีกำลังดังพระยาคชาพลาย(ช้าง)  มีเขี้ยวคล้ายชนนีมีศักดา(อำนาจ)  พระบิดามีความรักใคร่เลี้ยงดูมาจนอายุได้แปดปี จึงให้ชื่อว่าสินสมุทร  สอนวิชาเป่าปี่และเพลงอาวุธให้จนชำนาญ   วันหนึ่งนางผีเสื้อน้ำออกจากถ้ำไปหาอาหาร  ฝ่ายสินสมุทรซึ่งรักพ่อมากกว่าแม่ เห็นพระอภัยหลับอยู่ก็หนีไปวิ่งเล่นในถ้ำ  เห็นแผ่นหินปิดปากถ้ำไว้   จึงเข้าลองผลักเล่น แต่ด้วยมีกำลังมาก  ก็พังออก มองออกไปเห็นหาดทรายงาม ทะเลกว้างและป่าที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ก็ตื่นตาตื่นใจ  ออกวิ่งเล่นและว่ายน้ำด้วยความสนุกสนาน ไปพบเงือกเข้าก็แปลกใจ เห็นเป็นครึ่งคนครึ่งปลา จึงจับไปให้พระบิดาดู พระอภัยทราบว่าสินสมุทรมีกำลังมากสามารถผลักหินที่ปิดปากถ้ำออกได้ ก็ตกใจบอกว่าถ้าแม่ของสินสมุทรรู้ก็จะโกรธ ด้วยเกรงว่าจะพาพระบิดาหนี จะพากันตายหมด
สินสมุทรได้ฟังก็สงสัยจึงถามความจริงจากพระบิดา พระอภัยก็เล่าให้ฟังจนหมดสิ้น สินสมุทรรู้เรื่องแล้วก็เสียใจที่มีแม่เป็นยักษ์   ฝ่ายเงือกน้ำฟังภาษามนุษย์รู้เรื่อง ก็ขออาสาพระอภัยที่ได้ไว้ชีวิตว่า  จะใช้ตนทำอะไรก็จะรับใช้ทุกอย่าง             พระอภัยเห็นว่าเงือกพูดได้และได้ฟังเรื่องแล้วก็เกิดความสงสาร  แล้วบอกว่าตนต้องการหนีนางผีเสื้อ แต่ไม่รู้ว่าจะไปแห่งหนใดเพราะไม่รู้ทาง   ขอให้เงือกผู้เจนทางกลางทะเลช่วยแนะนำด้วย เงือกน้ำจึงบอกว่า
ที่นี่เป็นถิ่นที่อยู่ของนางผีเสื้อ  ข้างฝ่ายเหนือถึงมหิงษะสิงขร   ข้างทิศใต้ไปเกาะแก้วมังกร ใช้เวลาเดินทางเจ็ดเดือนจึงจะถึง   แถวนี้จะไม่มีบ้านเรือนคนเลย แต่บางทีมีเรือสำเภาชาวเกาะเมืองลังกา เขาแล่นมาบ้าง  บางครั้งถ้าเรือแตกพวกเงือกจะมาเลือกเอาคนไปเป็นคู่  เหมือนปู่ย่าของข้าที่เป็นมนุษย์ข้าจึงรู้ภาษามนุษย์   อายุข้าห้าร้อยแปดสิบเศษ จึงรู้จักถิ่นแถวนี้ดีถ้าจะหนีนางผีเสื้อผู้มีกำลังมากคงจะยาก  แต่มีโยคีตนหนึ่งมีเวทมนต์มาก   อายุถึงพันเศษ อยู่เกาะแก้วพิสดาร กินลูกไม้เผือกมันเป็นอาหาร   เวลาพวกแขกฝรั่งและอังกฤษเรือแตกก็จะมาพึ่งพิงฤาษีตนนี้เพราะมีมนต์ดลวิชา ปราบบรรดาภูติพรายไม่กรายไป  ถ้าท่านจะคิดหนีต้องหนีไปที่เกาะแก้วพิสดารนี้จึงจะรอดเพราะนางยักษ์จะทำอะไรไม่ได้  เผื่อวันใดมีเรือสำเภาหลงเข้ามาจะได้อาศัยติดเรือกลับไปบ้านเมือง  แต่ระยะทางจากนี่ไปไกลเหลือเกิน มีแต่ทะเลกับป่าและไม่มีความสะดวกสบายใดๆ จึงขอให้พระอภัยคิดให้ดีเสียก่อน