วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประวัติความเป็นมาวันภาษาไทย


วันภาษาไทยแห่งชาติ
                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                            วันภาษาไทยแห่งชาติ ความเป็นมาเป็นอย่างไร 

          สืบเนื่องจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่น ๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์, วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ

เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ

          สำหรับเหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ นั้นเพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ "ปัญหาการใช้คำไทย" โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจกับผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง

          สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า "เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..."

          นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ซึ่งในโอกาสต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส

          อย่างในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า "ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนือง ๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"

          นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้น ๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น
                                                                                                                                      

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561


เรื่องย่อพระอภัยมณี ตอน พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อ

                 กล่าวถึงพระอภัยมณีอยู่กับนางผีเสื้อจนมีบุตรชาย หน้าตาเหมือนพระบิดา แต่ดวงตาแดงดังสุรีย์ฉาย(พระอาทิตย์) มีกำลังดังพระยาคชาพลาย(ช้าง)  มีเขี้ยวคล้ายชนนีมีศักดา(อำนาจ)  พระบิดามีความรักใคร่เลี้ยงดูมาจนอายุได้แปดปี จึงให้ชื่อว่าสินสมุทร  สอนวิชาเป่าปี่และเพลงอาวุธให้จนชำนาญ   วันหนึ่งนางผีเสื้อน้ำออกจากถ้ำไปหาอาหาร  ฝ่ายสินสมุทรซึ่งรักพ่อมากกว่าแม่ เห็นพระอภัยหลับอยู่ก็หนีไปวิ่งเล่นในถ้ำ  เห็นแผ่นหินปิดปากถ้ำไว้   จึงเข้าลองผลักเล่น แต่ด้วยมีกำลังมาก  ก็พังออก มองออกไปเห็นหาดทรายงาม ทะเลกว้างและป่าที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ก็ตื่นตาตื่นใจ  ออกวิ่งเล่นและว่ายน้ำด้วยความสนุกสนาน ไปพบเงือกเข้าก็แปลกใจ เห็นเป็นครึ่งคนครึ่งปลา จึงจับไปให้พระบิดาดู พระอภัยทราบว่าสินสมุทรมีกำลังมากสามารถผลักหินที่ปิดปากถ้ำออกได้ ก็ตกใจบอกว่าถ้าแม่ของสินสมุทรรู้ก็จะโกรธ ด้วยเกรงว่าจะพาพระบิดาหนี จะพากันตายหมด
สินสมุทรได้ฟังก็สงสัยจึงถามความจริงจากพระบิดา พระอภัยก็เล่าให้ฟังจนหมดสิ้น สินสมุทรรู้เรื่องแล้วก็เสียใจที่มีแม่เป็นยักษ์   ฝ่ายเงือกน้ำฟังภาษามนุษย์รู้เรื่อง ก็ขออาสาพระอภัยที่ได้ไว้ชีวิตว่า  จะใช้ตนทำอะไรก็จะรับใช้ทุกอย่าง             พระอภัยเห็นว่าเงือกพูดได้และได้ฟังเรื่องแล้วก็เกิดความสงสาร  แล้วบอกว่าตนต้องการหนีนางผีเสื้อ แต่ไม่รู้ว่าจะไปแห่งหนใดเพราะไม่รู้ทาง   ขอให้เงือกผู้เจนทางกลางทะเลช่วยแนะนำด้วย เงือกน้ำจึงบอกว่า
ที่นี่เป็นถิ่นที่อยู่ของนางผีเสื้อ  ข้างฝ่ายเหนือถึงมหิงษะสิงขร   ข้างทิศใต้ไปเกาะแก้วมังกร ใช้เวลาเดินทางเจ็ดเดือนจึงจะถึง   แถวนี้จะไม่มีบ้านเรือนคนเลย แต่บางทีมีเรือสำเภาชาวเกาะเมืองลังกา เขาแล่นมาบ้าง  บางครั้งถ้าเรือแตกพวกเงือกจะมาเลือกเอาคนไปเป็นคู่  เหมือนปู่ย่าของข้าที่เป็นมนุษย์ข้าจึงรู้ภาษามนุษย์   อายุข้าห้าร้อยแปดสิบเศษ จึงรู้จักถิ่นแถวนี้ดีถ้าจะหนีนางผีเสื้อผู้มีกำลังมากคงจะยาก  แต่มีโยคีตนหนึ่งมีเวทมนต์มาก   อายุถึงพันเศษ อยู่เกาะแก้วพิสดาร กินลูกไม้เผือกมันเป็นอาหาร   เวลาพวกแขกฝรั่งและอังกฤษเรือแตกก็จะมาพึ่งพิงฤาษีตนนี้เพราะมีมนต์ดลวิชา ปราบบรรดาภูติพรายไม่กรายไป  ถ้าท่านจะคิดหนีต้องหนีไปที่เกาะแก้วพิสดารนี้จึงจะรอดเพราะนางยักษ์จะทำอะไรไม่ได้  เผื่อวันใดมีเรือสำเภาหลงเข้ามาจะได้อาศัยติดเรือกลับไปบ้านเมือง  แต่ระยะทางจากนี่ไปไกลเหลือเกิน มีแต่ทะเลกับป่าและไม่มีความสะดวกสบายใดๆ จึงขอให้พระอภัยคิดให้ดีเสียก่อน